
ฟุตบอลโลก หรือ ฟีฟ่าเวิลด์คัพ (อังกฤษ: FIFA World Cup) เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศโดยมีชุดทีมชาติชายร่วมเข้าแข่งในกลุ่มสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) การแข่งขันจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี เริ่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1930 ใน ฟุตบอลโลก 1930 ยกเว้นในปี ค.ศ. 1942 และ 1946 ที่งดเว้นไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทีมชนะเลิศการแข่งขันครั้งล่าสุดคือทีมชาติฝรั่งเศส ในการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2018
รูปแบบการแข่งขันในปัจจุบัน การแข่งขันประกอบด้วย 32 ทีม เพื่อเข้าร่วมแข่งขันในสถานที่จัดงานของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณ 1 เดือน การแข่งขัน 32 ทีมสุดท้ายนี้เรียกว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ส่วนในรอบคัดเลือกที่แข่งขันก่อนหน้านั้น ในปัจจุบันจะต้องใช้เวลาร่วม 3 ปี เพื่อตัดสินว่าทีมใดที่จะร่วมเข้าแข่งกับทีมประเทศเจ้าภาพ
ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 21 ครั้ง มีชาติที่ชนะเลิศการแข่งขันทั้งสิ้น 8 ชาติ ได้แก่ ทีมชาติบราซิล (5 ครั้ง) และเป็นทีมเดียวที่เข้าร่วมการแข่งขันในทุกครั้ง ส่วนชาติอื่นที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมชาติอิตาลีและทีมชาติเยอรมนี (4 ครั้ง), ทีมชาติอาร์เจนตินา ทีมชาติอุรุกวัย และทีมชาติฝรั่งเศส (2 ครั้ง) และทีมชาติอังกฤษและทีมชาติสเปน (1 ครั้ง)
การแข่งขันฟุตบอลโลกถือเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก มีผู้ชมราว 715.1 ล้านคนในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่จัดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี[1]
ตั้งแต่ ค.ศ. 1930 มีชาติที่เคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกมาแล้ว 17 ชาติ การแข่งขันในครั้งต่อไปคือ ฟุตบอลโลก 2022 จะจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์[2] และถัดไปในฟุตบอลโลก 2026 จะจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดา, สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก ในฐานะเจ้าภาพร่วมสามชาติ โดยเม็กซิโกจะถือเป็นชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 3 ครั้ง[3]
ประวัติ
การแข่งขันฟุตบอลนานาชาติยุคก่อน
นัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศเกิดขึ้นครั้งแรก ในการแข่งขันที่กลาสโกว์ ในปี ค.ศ. 1872 ระหว่างสก็อตแลนด์กับอังกฤษ[4] และในการแข่งขันชิงชนะเลิศระหว่างประเทศครั้งแรกที่ชื่อ บริติชโฮมแชมเปียนชิป ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1884[5] กีฬาฟุตบอลเติบโตในส่วนอื่นของโลกนอกเหนือจากอังกฤษในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ มีการแนะนำกีฬาและแข่งขันประเภทนี้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1900 และ 1904 และที่กีฬาโอลิมปิกซ้อน 1906[6]
หลังจากที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1904 ได้มีการพยายามจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศระหว่างประเทศ นอกเหนือจากประเทศที่เข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ปี 1906 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศในยุคแรก ๆ แต่ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของฟีฟ่าอธิบายว่าการแข่งขันนั้นล้มเหลวไป[7]
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1908 ในกรุงลอนดอน ฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่แข่งขันอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอล อังกฤษได้ดูแลในการจัดการแข่งขัน โดยผู้แข่งขันเป็นมือสมัครเล่นเท่านั้นและดูเป็นการแสดงมากกว่าการแข่งขัน โดยบริเตนใหญ่ (แข่งขันโดยทีมฟุตบอลสมัครเล่นทีมชาติอังกฤษ) ได้รับเหรียญทองในการแข่งขัน ต่อมาในโอลิมปิกฤดูร้อน 1912 ที่สต็อกโฮล์มก็มีจัดขึ้นอีก โดยการแข่งขันจัดการโดยสมาคมฟุตบอลสวีเดน
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งแข่งขันฟุตบอลเฉพาะในทีมสมัครเล่น เซอร์โทมัส ลิปตันได้จัดการการแข่งขันที่ชื่อ การแข่งขันชิงถ้วยรางวัลเซอร์โทมัสลิปตัน จัดขึ้นในตูรินในปี ค.ศ. 1909 เป็นการแข่งขันระหว่างสโมสร (ไม่ใช่ทีมชาติ) จากหลาย ๆ ประเทศ บางทีมเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ การแข่งขันครั้งนี้บางครั้งอาจเรียกว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก[8] มีทีมอาชีพเข้าแข่งขันจากทั้งในอิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ แต่สมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธที่จะร่วมในการแข่งขันและไม่ส่งทีมนักฟุตบอลอาชีพมาแข่ง ลิปตันเชิญสโมสรเวสต์อ็อกแลนด์ทาวน์ จากมณฑลเดอแรม เป็นตัวแทนของอังกฤษแทน ซึ่งสโมสรเวสต์อ็อกแลนด์ทาวน์ชนะการแข่งขันและกลับมารักษาแชมป์ในปี 1911 ได้สำเร็จ
ในปี ค.ศ. 1914 ฟีฟ่าได้จำแนกการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกว่าเป็น "การแข่งขันชิงแชมป์สำหรับมือสมัครเล่น" และลงรับผิดชอบในการจัดการการแข่ง[9] และนี่เป็นการปูทางให้กับการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทวีปเป็นครั้งแรก โดยในโอลิมปิกฤดูร้อน 1920 ที่มีทีมแข่งขันอย่างอียิปต์และทีมจากยุโรปอีก 13 ทีม มีผู้ชนะคือทีมเบลเยี่ยม[10] ต่อมาทีมอุรุกวัย ชนะในการแข่งขันฟุตบอลในโอลิมปิกในอีก 2 ครั้งถัดไปคือในปี ค.ศ. 1924 และ 1928 และในปี ค.ศ. 1924 ถือเป็นยุคที่ฟีฟ่าก้าวสู่ระดับมืออาชีพ
สนามกีฬาเอสตาเดียวเซนเตนาเรียว สถานที่การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1930 ที่เมืองมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย
จากความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอลในโอลิมปิก ฟีฟ่าพร้อมด้วยประธานที่ชื่อ ชูล รีเม ได้ผลักดันอีกครั้งโดยเริ่มมองหาหนทางในการจัดการแข่งขันนอกเหนือการแข่งขันโอลิมปิก ในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1928 ที่ประชุมฟีฟ่าในอัมสเตอร์ดัมตัดสินใจที่จะจัดการแข่งขันด้วยตัวเอง[11] กับอุรุกวัย ที่เป็นแชมเปียนโลกอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง และเพื่อเฉลิมฉลอง 1 ศตวรรษแห่งอิสรภาพของอุรุกวัยในปี ค.ศ. 1930 ฟีฟ่าได้ประกาศว่าอุรุกวัยเป็นประเทศเจ้าภาพในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก
สมาคมฟุตบอลของประเทศที่ได้รับการเลือก ได้รับการเชิญให้ส่งทีมมาร่วมแข่งขัน แต่เนื่องจากอุรุกวัยที่เป็นสถานที่จัดงาน นั่นหมายถึงระยะทางและค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาจากฝั่งยุโรปมา ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่มีประเทศไหนในยุโรปตอบตกลงว่าจะส่งทีมมาร่วม จนกระทั่ง 2 เดือนก่อนการแข่งขัน ในที่สุดริเมตจึงสามารถเชิญทีมจากเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส โรมาเนีย และยูโกสลาเวีย มีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 13 ทีม โดยมี 7 ทีมจากทวีปอเมริกาใต้ 4 ทีมจากยุโรป และ 2 ทีมจากอเมริกาเหนือ
2 นัดแรกของการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก จัดขึ้นในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1930 ผู้ชนะคือทีมฝรั่งเศส และทีมสหรัฐอเมริกา ชนะเม็กซิโก 4–1 และเบลเยี่ยม 3–0 ตามลำดับ โดยผู้ทำประตูแรกในฟุตบอลโลกมาจากลุกแซง โลร็องต์ จากฝรั่งเศส[12] ในนัดตัดสินทีมชาติอุรุกวัยชนะทีมชาติอาร์เจนตินา 4–2 ต่อหน้าผู้ชม 93,000 คนที่เมืองมอนเตวิเดโอ ทีมอุรุกวัยจึงเป็นชาติแรกที่ชนะการแข่งขันฟุตบอลโลก[13]
ฟุตบอลโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังจากที่เกิดการแข่งขันฟุตบอลโลกขึ้นแล้ว ในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1932 ที่จัดขึ้นที่เมืองลอสแอนเจลิส ก็ไม่ได้รวมการแข่งขันฟุตบอลเข้าไปด้วย เนื่องจากความไม่ได้รับความนิยมในกีฬาฟุตบอลในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อเมริกันฟุตบอลได้รับความนิยมมากขึ้น ทางฟีฟ่าและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่มีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องผู้เล่นในฐานะมือสมัครเล่น ดังนั้นจึงไม่มีการแข่งขันฟุตบอลในเกมนี้[14] แต่ต่อมาฟุตบอลได้กลับมาในกีฬาโอลิมปิกใน โอลิมปิกฤดูร้อน 1936 แต่ถูกลดความสำคัญลง เพราะความมีชื่อเสียงของฟุตบอลโลก
ประเด็นในการจัดการแข่งขันในช่วงแรกของฟุตบอลโลกที่เป็นความยากลำบากในการเดินทางข้ามทวีปและสงครามนั้น มีทีมจากอเมริกาใต้บางทีมยินดีที่จะเดินทางไปยุโรปในการแข่งขันในปี 1934 และ 1938 โดยทีมบราซิลเป็นทีมเดียวในอเมริกาใต้ที่เข้าแข่งขันทั้ง 2 ครั้งนี้ ส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลก 1942 และ 1946 ได้มีการยกเลิกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองและพักจากผลกระทบของสงครามโลก
ฟุตบอลโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ฟุตบอลโลก 1950 จัดขึ้นที่ประเทศบราซิล เป็นครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรเข้าร่วมการแข่งขัน ทีมสหราชอาณาจักรถอนตัวจากฟีฟ่าในปี ค.ศ. 1920 ที่ไม่พอใจในบางส่วนที่ต้องเล่นกับประเทศที่พวกเขาทำสงครามด้วย และบางส่วนเพื่อประท้วงด้านอิทธิพลและการบังคับจากต่างชาติ[15] แต่ก็กลับเข้ามาร่วมในปี ค.ศ. 1946 หลังจากได้รับคำเชื้อเชิญจากฟีฟ่า[16] การแข่งขัน ทีมแชมเปียนอย่างอุรุกวัยก็กลับเข้ามาร่วม หลังจากที่คว่ำบาตรฟุตบอลโลกก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง โดยทีมอุรุกวัยชนะในการแข่งขันอีกครั้ง หลังจากที่ชนะประเทศเจ้าภาพบราซิล นัดการแข่งขันนี้เรียกว่า "มารากานาซู" (โปรตุเกส: Maracanaço)
ในการแข่งขันระหว่างปี ค.ศ. 1934 และ 1978 มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 16 ทีม ยกเว้นในปี ค.ศ. 1938 เมื่อออสเตรียรวมเข้ากับเยอรมนี หลังจากรอบคัดเลือก ทำให้มีทีมแข่งขันเหลือเพียง 15 ทีม และในปี ค.ศ. 1950 เมื่ออินเดีย สก็อตแลนด์ และตุรกี ถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้มีทีมร่วมแข่งขันเพียง 13 ทีม[17] ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันส่วนใหญ่เป็นทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ มีส่วนน้อยจากอเมริกาเหนือ แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย ทีมเหล่านี้มักจะแพ้อย่างง่ายดายกับทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1982 มีทีมนอกเหนือจากยุโรปและอเมริกาใต้ที่เข้าสอบรอบสุดท้าย คือ ทีมสหรัฐอเมริกา เข้ารอบรองชนะเลิศในปี ค.ศ. 1930, ทีมคิวบาเข้ารอบรองชนะเลิศใน ปี ค.ศ. 1938, ทีมเกาหลีเหนือ เข้าสู่รอบรองชนะเลิศในปี ค.ศ. 1966 และทีมเม็กซิโกเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในปี ค.ศ. 1970
ขยายเป็น 32 ทีม
การแข่งขันขยายเป็น 24 ทีมในปี ค.ศ. 1982[18] จากนั้นเป็น 32 ทีมในปี ค.ศ. 1998[19] ทำให้มีทีมจากแอฟริกา เอเชียและอเมริกาเหนือเข้ารอบมากขึ้น และในปีครั้งหลัง ๆ ทีมในภูมิภาคเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น และสามารถติดในรอบก่อนรองชนะเลิศมากขึ้น ได้แก่ ทีมเม็กซิโก เข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศในปี ค.ศ. 1986, ทีมแคเมอรูน เข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศในปี ค.ศ. 1990, ทีมเกาหลีใต้ได้อันดับ 4 ในปี ค.ศ. 2002, ขณะที่ทีมเซเนกัลและสหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 ทีมเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศในปี ค.ศ. 2002 และทีมกานา เข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศในปี 2010 แต่ถึงอย่างไรก็ตามทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ก็ยังคงมีความโดดเด่นอยู่ เช่นในปี ค.ศ. 1998 และ 2006 ที่ทีมทั้งหมดในรอบรองชนะเลิศมาจากยุโรปและอเมริกาใต้
ในฟุตบอลโลก 2002 ในรอบคัดเลือก มีทีมเข้าร่วมคัดเลือก 200 ทีม และในฟุตบอลโลก 2006 มีทีมที่พยายามเข้าคัดเลือก 198 ทีม ขณะที่ในฟุตบอลโลก 2010 มีประเทศที่เข้าร่วมรอบคัดเลือก 204 ทีม ซึ่งถือเป็นสถิติเป็นปีที่มีประเทศเข้าคัดเลือกมากที่สุด[20]
โดยโควต้าของแต่ละทวีปจะมีต่างกันคือ เอเชีย 4.5 ทีม, โอเชียเนีย 0.5 ทีม, แอฟริกา 5 ทีม, อเมริกาเหนือ 3.5 ทีม, ยุโรป 13 ทีม, อเมริกาใต้ 4.5 ทีม และประเทศเจ้าภาพอีก 1 ทีม ซึ่งต่อมาทางเอเอฟซีได้มีแผนที่จะรวมเอเชียกับโอเชียเนียเข้าด้วยกันเพื่อขอเพิ่มโควต้าจาก 4.5 ทีม เป็น 5 ทีม[21]
การแข่งขันอื่นของฟีฟ่า
ในการแข่งขันของฟุตบอลสำหรับผู้หญิง คือ ฟุตบอลโลกหญิง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1991 ที่ประเทศจีน[22] ฟุตบอลโลกหญิงจะมีการแข่งขันที่เล็กกว่าฟุตบอลของผู้ชาย แต่กำลังเติบโตอยู่เรื่อย ๆ มีทีมเข้าร่วมแข่งขันในปี ค.ศ. 2007 อยู่ 120 ทีม มากกว่า 2 เท่าของในปี ค.ศ. 1991
กีฬาฟุตบอลนั้นได้มีอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนทุก ๆ ครั้ง ยกเว้นในปี ค.ศ. 1896 และ 1932 แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นซึ่งในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิก ทีมที่ร่วมแข่งจะไม่ใช่ทีมระดับสูงสุด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1992 ที่แต่เดิมให้ผู้แข่งขันอายุ 23 ปีเข้าแข่งขัน แต่ก็อนุญาตให้มีผู้เล่นที่อายุมากกว่า 23 ปี จำนวน 3 คนของแต่ละทีม ลงแข่งขันได้[23] ส่วนฟุตบอลหญิงในโอลิมปิก แข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 เป็นการแข่งขันทีมชาติเต็มทีม ไม่มีจำกัดอายุ
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นก่อน 1 ปีที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก ในประเทศเจ้าภาพที่จะแข่งขัน เหมือนเป็นการอุ่นเครื่องฟุตบอลโลกที่จะมาถึง เป็นการแข่งขันระหว่างผู้ชนะเลิศจากแต่ละภูมิภาคทั่วโลก (เอเชียนคัพ แอฟริกันคัพ โกลด์คัพ โกปาอาเมริกา เนชันส์คัพ และ ฟุตบอลยูโร) พร้อมทั้งทีมที่ชนะฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดและทีมเจ้าภาพ[24]
ฟีฟ่าจะจัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนระดับนานาชาติ (ฟุตบอลโลกเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี, ฟุตบอลโลกเยาวชนอายุไม่เกิน 17 ปี, ฟุตบอลโลกหญิงอายุไม่เกิน 20 ปี, ฟุตบอลโลกหญิงอายุไม่เกิน 17 ปี, การแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสร (ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ), และการแข่งขันฟุตบอลอื่นเช่น ฟุตซอล (ฟุตซอลชิงแชมป์โลก) และฟุตบอลชายหาด (ฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลก)
ถ้วยรางวัล
ดูบทความหลักที่: ถ้วยรางวัลฟีฟ่าเวิลด์คัพ
ถ้วยรางวัลชูลส์รีเมต์
ถ้วยรางวัลฟีฟ่าเวิลด์คัพ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 ถึง 1970 ถ้วยรางวัลชูลส์รีเมต์เป็นถ้วยที่มอบให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลโลก เดิมทีเรียกง่ายๆ ว่า เวิลด์คัพ (อังกฤษ: World Cup) หรือ คูปดูมอนด์ (ฝรั่งเศส: Coupe du Monde) แต่ในปี ค.ศ. 1946 ได้เปลี่ยนชื่อตามประธานฟีฟ่า ที่ชื่อ ชูลส์ รีเมต์ ที่ได้ริเริ่มการแข่งขันครั้งแรก และเมื่อในปี ค.ศ. 1970 เมื่อทีมบราซิลชนะการแข่งขันเป็นครั้งที่ 3 ได้ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์จากการที่ได้แชมป์ 3 สมัย แต่ในปี ค.ศ. 1983 ถ้วยถูกขโมยไปและไม่มีใครได้เห็นอีกเลย[25]
หลังจากปี ค.ศ. 1970 ก็มีถ้วยรางวัลใหม่ ที่รู้จักในชื่อ ถ้วยรางวัลฟีฟ่าเวิลด์คัพ โดยผู้เชี่ยวชาญของฟีฟ่าที่มาจาก 7 ประเทศ ประเมินจากแบบ 53 แบบ จนสรุปที่ผลงานการออกแบบของนักออกแบบชาวอิตาลีที่ชื่อซิลวีโอ กัซซาน